รู้จักเครื่องมือจัดฟันในปัจจุบัน: ทางเลือกที่เหมาะกับรอยยิ้มของคุณ

การเข้าชม : 21 ครั้ง

การจัดฟันในปัจจุบันไม่ได้มีเพียงเครื่องมือโลหะสีเงินที่เห็นกันจนคุ้นตาอีกต่อไป เทคโนโลยีและวัสดุที่ทันสมัยทำให้เรามี “ทางเลือก” ที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพ ความสบาย และความสวยงามระหว่างการรักษา ซึ่งแต่ละเครื่องมือมีข้อดี ข้อจำกัด และเหมาะกับความต้องการที่แตกต่างกันของผู้ป่วย ดังนั้น ก่อนตัดสินใจจัดฟัน การรู้จักเครื่องมือจัดฟันประเภทต่างๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เราวางแผนการรักษาได้เหมาะสมยิ่งขึ้น

เครื่องมือจัดฟันแบบถอดได้

เครื่องมือจัดฟันประเภทนี้มีลักษณะเด่นคือ “สามารถถอดเข้า-ออกได้ด้วยตนเอง” ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารและดูแลสุขอนามัยในช่องปากได้สะดวกมากขึ้น แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่

1. เครื่องมือถอดได้ชนิดพลาสติกและลวด

เครื่องมือนี้มักใช้ในกรณีที่ต้องการเคลื่อนฟันบางซี่เล็กน้อย หรือช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของขากรรไกรในเด็กให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม ตัวเครื่องมือจะมีแผ่นพลาสติกที่แนบกับเพดานปากหรือด้านในของฟัน ซึ่งอาจทำให้รู้สึกอึดอัดเล็กน้อยในช่วงแรก แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถปรับตัวได้ภายในไม่กี่วัน

2. เครื่องมือจัดฟันใส (Clear Aligner)

นี่คือหนึ่งในเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมอย่างมากในยุคปัจจุบัน เครื่องมือจัดฟันใสทำจากพลาสติกใสชนิดพิเศษ ซึ่งออกแบบด้วยระบบคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี 3 มิติเพื่อเคลื่อนฟันไปทีละขั้นตอน โดยปกติจะเคลื่อนฟันประมาณ 0.25-0.3 มิลลิเมตรต่อชุดเครื่องมือ ผู้ป่วยจะได้รับชุดเครื่องมือหลายชุดตามแผนการรักษา และต้องใส่เครื่องมือวันละอย่างน้อย 22 ชั่วโมง รวมถึงอาจต้องใส่ยางร่วมด้วยในบางกรณี ซึ่งข้อดีของเครื่องมือจัดฟันใสคือความสวยงาม สะดวกในการถอดออกระหว่างรับประทานอาหาร และช่วยให้การแปรงฟันเป็นไปอย่างทั่วถึง ลดโอกาสการเกิดฟันผุ อย่างไรก็ตาม การรักษาจะได้ผลดีขึ้นอยู่กับวินัยของผู้ป่วยในการใส่เครื่องมืออย่างสม่ำเสมอ และมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าเครื่องมือประเภทอื่น

นอกจากนี้หลังจัดฟันเสร็จแล้ว มักต้องใส่รีเทนเนอร์เพื่อคงตำแหน่งฟันให้อยู่กับที่ จนกว่าเหงือกและเนื้อเยื่อรอบรากฟันจะปรับตัวกับตำแหน่งใหม่ได้ดี รีเทนเนอร์มีทั้งแบบพลาสติกที่มีลวดและแบบใส ซึ่งรีเทนเนอร์ใส (Clear Retainer) มีรูปลักษณ์คล้ายเครื่องมือจัดฟันใสแต่แข็งและหนากว่า

เครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่น

เครื่องมือจัดฟันแบบนี้เป็นภาพคุ้นตาสำหรับหลายคน ประกอบด้วยแบร็กเก็ต (Bracket) ซึ่งติดบนผิวฟันแต่ละซี่ และลวดที่เชื่อมโยงระหว่างแบร็กเก็ตแต่ละตัว เพื่อควบคุมการเคลื่อนฟันให้เป็นไปตามแผนการรักษา

แบร็กเก็ตมีทั้งชนิดโลหะ (ที่พบมากที่สุด) และชนิดเซรามิก (ที่มีสีคล้ายฟัน ดูกลมกลืนกับฟันธรรมชาติ แต่มีราคาสูงกว่า) นอกจากนี้ยังมีการจำแนกตามระบบการยึดลวด ได้แก่ แบร็กเก็ตทั่วไป ที่ใช้ยางโอริงเพื่อยึดลวด และ Self-ligating bracket ซึ่งเป็นระบบที่สามารถยึดลวดได้เองโดยไม่ต้องใช้ยาง โดยมักออกแบบมาให้ลดแรงเสียดทาน และอาจช่วยลดระยะเวลาในการรักษา แต่มีราคาสูงกว่าเช่นกัน

นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งเครื่องมือชนิดโลหะติดแน่นได้เป็น 2 ประเภท คือ แบบทั่วไปที่เราคุ้นเคยกันที่ติดเครื่องมือที่ผิวฟันตรงด้านแก้ม

และแบบที่ติดเครื่องมือที่ผิวฟันในด้านลิ้น หรือที่เรียกว่า Lingual fixed appliance

ข้อดีของเครื่องมือติดแน่น

เคลื่อนฟันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากติดอยู่บนตัวฟันจึงให้แรงตลอดเวลาและเคลื่อนฟันได้ทุกทิศทาง และไม่ต้องพึ่งพาวินัยของผู้ป่วยมากเท่ากับเครื่องมือแบบถอดได้

ข้อจำกัดของเครื่องมือติดแน่น

การระคายเคืองในช่องปาก การดูแลความสะอาดที่ซับซ้อนมากขึ้น และข้อจำกัดเรื่องอาหาร เพราะอาหารบางประเภท เช่น ของแข็งหรือเหนียว อาจทำให้เครื่องมือเสียหายและส่งผลต่อระยะเวลาการรักษา

สรุป

ไม่ว่าจะเลือกใช้เครื่องมือจัดฟันประเภทใด สิ่งสำคัญที่สุดคือการปรึกษาทันตแพทย์จัดฟัน เพื่อให้การวินิจฉัยและวางแผนการรักษาเป็นไปอย่างเหมาะสมกับปัญหาและไลฟ์สไตล์ของแต่ละบุคคล เพราะ “เครื่องมือ” เป็นเพียงเครื่องมือในการรักษา แต่ “รอยยิ้มที่สวยและมั่นใจ” เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันระหว่างคนไข้และทันตแพทย์นั่นเอง